วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

พระราชนิพนธ์ ของ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ ของ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องท้าวแสนปม

บทนำ
มูลเหตุ ภูมิหลังของวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเชื่อว่าเรื่องราวแห่งอัจฉริยบุคคลที่มีอยู่ในตำนานต่าง ๆ โดยมากย่อมมีความจริงเป็นเค้าอยู่บ้างไม่ใช่ผูกแต่งขึ้นลอย ๆ เป็นนิยายเล่าเล่น เรื่องท้าวแสนปมอันเป็นนิทานพื้นบ้านที่พระองค์ทรงปรารถว่าผู้อ่านมักจะรู้สึกว่าเหลือที่จะเชื่อได้เพราะเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์จึงไม่ใคร่มีใครใฝ่ใจนึกถึงทั้งที่อันที่จริงควรที่จะอยากรู้ต่อไปอยู่บ้างว่าในเรื่องท้าวแสนปมนั้นมีความเป็นจริงอยู่เพียงไร เพราะตามความเชื่อว่าท้าวแสนปมนี้มิใช่คนอื่นไกลเลยทรงเป็นพระบิดาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพทวารดีศรีอยุธยาขึ้น ทั้งพระองค์ทรงเห็นว่าเรื่องท้าวแสนปมตามตำนานเดิมในต้นหนังสือพระราชพงศาวดารของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตนั้นดูมีข้อความวิจิตรพิสดารมากเกินกว่าที่จะผูกเป็นนิยายเฉยๆ พระองค์จึงสมัครจะเชื่อว่าเรื่องนั้นมีมูลความจริงอยู่ แต่หากอาจเป็นเพราะว่าผู้ที่เล่าภายหลังมิได้มีความรู้ลึกซึ้ง ทั้งใจก็ยังชอบในทางปาฏิหาริย์ จึงเล่าไปเป็นทางปาฏิหาริย์มากเกินไป แต่ถ้าพิจารณาและใช้ความสันนิษฐานประกอบเข้าบ้างก็พอจะแลเห็นทางอันน่าเชื่อได้ อย่างเช่นเรื่องพระร่วงซึ่งได้ไปครองเมืองสุโขทัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิบายเรื่องไป 1 เรื่อง แล้วและมีผู้เห็นด้วยกับพระองค์เป็นอันมาก จึงเป็นมูลเหตุให้พระองค์ทรงคิดอธิบายเรื่องท้าวแสนปมขึ้นอีก 1 เรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องท้าวแสนปมขึ้นตามเค้าเรื่องที่ทรงสันนิษฐานเอง และหยิบเอาเฉพาะเรื่องของท้าวแสนปมโดยแท้
วัตถุประสงค์ของวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปม
- เพื่อสนับสนุนและอธิบายเรื่องราวความเชื่อด้านต้นกำเนิดความเป็นมาของอัจฉริยบุคล
- เพื่อให้เห็นทางอันน่าเชื่อถือ มูลความจริงของปาฏิหาริย์ที่เล่าสืบต่อกันมาตามตำนานเดิมของท้าวแสนปม - เพื่อใช้ในการบันเทิง การแสดงละคร
- เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการสอนให้เกิดภูมิปัญญาที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต
เนื้อหา
ลักษณะของวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปม
เป็นลักษณะของวรรณกรรมประเภท คำกลอนบทละคร กลอนบทละคร ตามความหมายของพจนานุกรมไทย หมายถึง กลอนที่แต่งสำหรับการขับร้อง ไม่บังคับคำตายตัวในวรรค อาจมีวรรคละ ๖-๘ คำ (พยางค์).
ลักษณะของกลอนบทละคร มีดังนี้
๑. กลอนบทละครใช้คำในวรรคหนึ่งได้ตั้งแต่ ๖-๘ คำ แต่ที่นิยมกันมักเป็น ๖ หรือ ๗ คำ เพราะเข้าจังหวะและทำนองร้องได้ดีกว่า
๒. สัมผัสให้ถือหลักเกณฑ์ของกลอนสุภาพเป็นหลัก
๓. เสียงวรรณยุกต์ที่นิยมท้ายวรรคของกลอนสุภาพดังได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่เคร่งครัดตามระเบียบนัก เพราะต้องอาศัยทำนองร้องและปี่พาทย์เป็นสำคัญ
๔. วรรคแรกหรือวรรคสดับของกลอนบทละคร นิยมใช้คำนำ หรือคำขึ้นต้นเพื่อขึ้นความใหม่หรือเปลี่ยนทำนองร้องใหม่ คำนำนี้บางทีใช้ ๒ พยางค์ หรือ๓ พยางค์ หรือ ๔ พยางค์ แต่ต้องนับเป็นหนึ่งวรรคเต็ม เช่น “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” หรือ “มาจะกล่าวบทไป” เป็นต้น
๕. ความยาวของกลอนบทละครแต่ละตอนไม่จำกัดขึ้นอยู่กับเนื้อความ มีตั้งแต่ ๒ บาท หรือ ๒ คำกลอน หรือ ๒ คำ เป็นต้นไป เมื่อจบแต่ละตอน ผู้แต่งก็จะบอกจำนวนบาทไว้ข้างท้าย และกำกับด้วยทำนองเพลงหน้าพาทย์ ส่วนทำนองเพลงร้องจะกำกับไว้ตอนต้น
ตัวอย่าง เช่น
ช้า
๏ เมื่อนั้น องค์พระชินเสนผู้รุ่งฟ้า
เป็นโอรสยศยงทรงศักดา แห่งจอมอาณาศรีวิไชย
ทรงฤทธิ์กำแหงแรงรณ ประชาชนนิยมหาน้อยไม่
แต่ยุพราชนั้นไซร้ ยังมิได้มีคู่อยู่ครอง
ฯ ๔ คำ ฯ
เรื่องย่อ ท้าวแสนปม
กล่าวถึงเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งท้าวไตรตรึงษ์ชั่วที่ มีราชธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่านางอุษามีรูป
งดงามมาก กิตติศัพท์เล่าลือระบือไปในเมืองต่าง ๆ ทราบถึงเจ้านครศรีวิไชย จึงใช้ฑูตไปทาบทามเพื่อขอนางนั้นเป็นมเหสีแห่งพระชินเสนราชโอรสผู้เป็นยุพราช แต่ท้าวไตรตรึงษ์ไม่มีราชโอรสก็ปรารถนาจะให้เขย
มาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสืบไป จึงตอบว่าถ้าท้าวศรีวิไชยยอมเป็นเมืองขึ้นจึงจะยกพระธิดาให้ ท้าวศรีวิไชยก็ไม่ยอมจึงงดกันไป
ครั้นกาลต่อมาพระชินเสนมีความปรารถนาจะเห็นตัวพระธิดาของท้าวไตรตรึงษ์ จึง
ลาพระราชบิดาไปยังเมืองไตรตรึงษ์ ครั้นว่าจะเข้าไปตรง ๆ ก็เห็นว่าไม่สะดวก ด้วยพระบิดาและท้าวไตรตรึงษ์ผิดใจกันอยู่ จึงใช้อุบายแปลงตัวเป็นยาจกเอาฝุ่นและเขม่าทาตัวให้เปื้อนเปรอะ เอารงค์แต้มตัวให้ดูประหนึ่งว่าเป็นปมปุ่มทั่วไปทั้งตัว นุ่งห่มให้ปอน ใช้ชื่อว่าแสนปม แล้วก็เข้าไปในเมืองไตรตรึงษ์โดยไปอาสารับใช้ผู้เฝ้าสวนหลวงอยู่เพื่อหาช่องทางดูตัวนางอุษา
อยู่มาวันหนึ่ง นางอุษา ออกไปประพาสสวนหลวง ส่วนแสนปมไปเที่ยวเดินเก็บผลหมากรากไม้และผักหญ้าอยู่ จึงได้เห็นตัวนางก็เกิดความรัก จึงเข้าไปหาและนำผักไปถวาย ฝ่ายนางอุษาสังเกตดูนายแสนปมเห็นว่าไม่ใช่ไพรจริง เพราะประการหนึ่ง มิได้ไหว้ตน อีกประการหนึ่งนั้น นายแสนปมตาจ้องดูนางไม่หลบเลย นางจึงให้ข้าหลวงซักดู ก็ได้ความแต่เพียงว่าชื่อนายแสนปมแต่ไม่บอกว่ามาแต่ไหน หรือเป็นลูกเต้าเหล่าใคร นางอุษานึกในใจว่าต้องเป็นคนมีตระกูลแปลงตัวมาเป็นแน่แท้ ครั้นจะพูดจาอะไรต่อไปก็ไม่ถนัดจึงสั่งนายแสนปมว่าต่อไปให้หมั่นเก็บผักส่งเข้าไปในวัง แล้วนางก็กลับเข้าวัง
ฝ่ายพระชินเสนไตร่ตรองจากท่าทางของนางก็รู้ว่า นางมีใจตอบ จึงใช้อุบายเอาเหล็กแหลมจารเป็นหนังสือบนมะเขือเป็นถ้อยคำเกี้ยวเลียบเคียงเป็นนัย ๆ แล้วนำมะเขือกับผักอื่นๆ ส่งไปให้นาง ฝ่ายนางอุษาได้เห็นหนังสือนั้นแล้ว ก็เขียนหนังสือตอบใส่หอหมากฝากไปให้นายแสนปม พระชินเสนได้รับหนังสือตอบก็เข้าใจได้ดีว่านางสมัครรักใคร่ในตนแน่แล้วมีความบอกเป็นนัย จึงเข้าไปหานางที่ในวัง
ต่อจากนั้นก็นัดพบปะได้เสียกันโดยวิธีมีหนังสือเขียนบนมะเขือในการติดต่อนัดแนะ จึงเกิดปรากฏขึ้นว่านางอุษานั้นโปรดเสวยมะเขือนัก ต่อมาพระชินเสนต้องรีบกลับไปนครศรีวิชัยอันเนื่องมาจากพระบิดาป่วย จึงมิทันพานางไปด้วย ต่อจากนั้นก็มีข้อข้องขัดบังเกิดขึ้นจึงเป็นอันยังไม่มีโอกาสที่จะจัดการไปรับนางอุษา จนนางประสูติโอรส
โหรทำนายตามดวงชะตาว่าพระโอรสของนางจะได้เป็นพระยามหากษัตริย์ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง ท้าวไตรตรึงษ์ผู้เป็นตา จึงอยากจะใคร่ทราบว่าใครเป็นบิดาของหลาน เพราะถามพระธิดาก็ไม่ให้การอย่างไรทั้งสิ้น ถามพวกข้าหลวงก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไร จงเป็นแต่โจษกันว่าตั้งแต่ได้เสวยมะเขือซึ่งนายแสนปมถวายแล้วก็ทรงครรภ์ ท้าวไตรตรึงษ์ทรงไตร่ตรองเห็นว่า ผู้ชายถ้าไม่เป็นคนดีที่ไหนจะบังอาจลอบรักสมัครสังวาสกับพระธิดาได้ถ้ารู้ตัวและเห็นว่าเป็นผู้ที่สมควรกันก็จะได้อภิเษกให้เป็นคู่ครองกัน จึงคิดหาอุบายที่จะได้รู้ตัวผัวแห่งนางอุษา โดยให้ป่าวประกาศบรรดาทวยลูกเจ้าขุนมูลนายและทวยราษฎรมาพร้อมกัน ให้ถือขนมนมเนยติดมือมาแล้วก็ทรงอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาพระกุมาร ขอให้พระกุมารรับของจากมือผู้นั้น แล้วท้าวไตรตรึงษ์จะได้ยกพระธิดาอภิเษกให้ ที่คิดอุบายเช่นนี้ก็โดยเชื่อว่าธิดานั้น อย่างไรก็คงจะไม่ยอมให้ลูกรับของจากมือผู้อื่นนอกจากผัวของตน เพราะถ้ากุมารรับของคนอื่น นางก็ต้องตกไปเป็นเมียของคนอื่น ที่ไหนจะปลงใจยอมได้
ความทราบถึงพระชินเสนจึงจัดทัพใหญ่ตั้งพระทัยจะต้องรับนางผู้เป็นชายามาให้จงได้ จึงต้องเตรียมกำลังเพื่อรบได้ที่เดียว พอใกล้นครไตรตรึงษ์ก็สั่งให้ทัพหยุดพัก และสั่งให้อุบายแก่ขุนพลไว้แล้วพระชินเสนจึงแปลงเป็นนายแสนปมถือข้าวเย็นก้อนหนึ่งไปยังพระลาน ครั้นถึงเวลากำหนดท้าวไตรตรึงษ์จึงกระทำการตามอุบายที่ออกไว้ พระกุมารก็ไม่รับของใครสักคนเดียว จนกระทั่งนายแสนปมชูก้อนข้าวเย็นให้จึงได้รับ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่า ไม่เป็นการอัศจรรย์ เพราะนางนมคงจะได้รับคำสั่งมาชัดเจนแล้วว่าให้รับแต่ของจากมือนายแสนปมคนเดียวเท่านั้น)
ท้าวไตรตรึงษ์เห็นเช่นนั้น รู้สึกอับอายเพราะคิดว่าพระธิดาเล่นชู้กับคนเลวต่ำชาติ จึงขับพระธิดาออกจากพระนคร ทั้งด่าว่านายแสนปมต่าง ๆ นานา นายแสนปมจึงกล่าวว่าถึงขับไล่ก็ไม่วิตก เมืองจะสร้างอยู่เองได้สักเมืองไตรตรึงษ์ก็ได้ ทั้งไม่มีความเกรงกลัวใคร เพราะถ้าตนตีอินทเภรีขึ้น รี้พลก็จะมีมาเหมือนน้ำมหาสมุทร ท้าวไตรตรึงษ์สำคัญว่า นายแสนปมพูดอวดดีจึงท้าให้ตีกลอง แสนปมก็ตีกลองขึ้นสามลา กองทัพที่ได้เตรียมอุบายกันไว้นอกเมือง ก็โห่ร้องขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์ตกใจและรู้ว่าเป็นทัพของพระชินเสนซึ่งปลอมตัวมา มิรู้ที่จะทำประการใด ครั้นจะวิงวอนงอนง้อพระชินเสนให้อยู่ เขาก็คงไม่อยู่เพราะดูถูกพ่อของเขาไว้ พระชินเสนจึงได้รับนางอุษาและพระราชโอรสกลับไปนครศรีวิชัย (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละครจับตั้งแต่พระชินเสนทูลลาพระบิดาไปดูตัวนางอุษาในเมืองไตรตรึงษ์ จึงได้นางกลับมาศรีวิไชยแล้วก็จบ)
บทวรรณกรรมที่มีคุณค่าจากเรื่องท้าวแสนปม ที่สืบทอดสู่บทเพลงอมตะ “สาส์นรัก”
พราหมณ์ดีดน้ำเต้า (สาส์นของพระชินเสนจารลงในมะเขือเพื่อส่งถึงนางอุษา)
๏ ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ ทำไฉนจะพ้นไฟราญ
เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล
สู้กรากกรำลำบากยากนาน ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป
ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย ฤาจะใฝ่ต้องชาวปัถพิน
โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดล้าดังฟ้าดิน จะได้สมดังจินต์ฉันใด
ฯ ๘ คำ ฯ
ทองย่อน (สาส์นรักตอบของนางอุษาส่งถึงพระชินเสน)
๏ ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เห็นไฉนย่อท้อรอรา ฤๅจะกล้าแต่เพียงวาที
เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันมณีฤๅจะโลดไปถึงมือ
อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤๅ
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี
ฯ ๘ คำ ฯ
บทวิเคราะห์
ด้านคุณค่า ของภาษา วรรณกรรม
บทวรรณกรรมที่ยกมา เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า มีภาษาที่สละสลวย ที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาของผู้ประพันธ์ที่จะต้องสื่อความในรูปแบบของกลอนบทละครที่ต้องแสดงให้เห็นถึงการสื่อภาษาที่ไพเราะมีความคมคาย มีความหมายที่กินใจ และยังบอกให้รู้ถึงความต้องการของตัวละครในตอนนั้นๆ ทั้งบทที่เป็นสาส์นของพระชินเสน และบทตอบของนางอุษา ภาษาในวรรณกรรมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดจินตนาการต่อผู้อ่านเกิดอารมณ์ที่คล้อยตาม ให้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญญา ความคิดที่จะสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวันของสังคมปัจจุบัน
ด้านแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่แฝงอยู่ในบทวรรณกรรม
จากบทวรรณกรรมจะเห็นว่าแนวความคิดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวความคิด ความเชื่อ ว่าบุคคลใดก็แล้วแต่ควรที่จักต้องมีความพยามไขว้คว้าหาสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับฐานะของตน ด้วยความสามารถ และกล้าหาญ อย่าพึงรอให้บุญหรือวาสนาหรือโอกาสจะน้อมเข้าหาตน ดังบทที่ว่า
“เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันมณีฤๅจะโลดไปถึงมือ
อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤๅ”
ทั้งพระองค์ยังมีมุมมองที่เปรียบเทียบที่ทำให้เห็นค่านิยมว่าของมีค่านั้น ดุจแก้วมณีที่เรายอมรับกันอยู่แล้วว่าเป็นของสวย ของดี มีราคาและหายาก คนเราทุกคนจึงพยามที่จะหามาเป็นของตน ส่วนของไม่ดีนั้นคือ ก้อนกรวด หรือของที่มีวางขายอยู่ตามท้องตลาดที่สามารถจะซื้อขายได้
โดยง่าย
ดังบทที่ว่า
“ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้”
หรือในบทที่ว่า
“อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้ฤๅ
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม”
และยังทรงสอดแทรกการสอนให้เป็นบุคคลที่รู้จักมีความพยายามด้วยภาษาที่กระทบ
กระเทียบให้บังเกิดอารมณ์ที่ยั่วยุแก่ผู้อ่าน เช่น
๏ ในลักษณ์นั้นว่าน่าประหลาด เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า
เห็นไฉนย่อท้อรอรา ฤๅจะกล้าแต่เพียงวาที
และบทที่สอนให้เกิดความพยายาม
“ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม จึ่งได้ออมอบกลิ่นสุมาลี”
ด้านการนำเสนอบทวรรณกรรมที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ในรูปแบบใหม่
ดังได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่าบทวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปม อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นวรรณกรรมประเภทกลอนบทละคร ก็โดยมุ่งหวังเพื่อการนำเสนอในรูปแบบของการละครอันเป็นการแสดงตามแบบแผนของวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ดังจะเห็นว่าในกลอนบทละครบทนั้นๆ จะถูกกำกับด้วยบทเพลง ซึ่งหมายถึงการขับร้องเพลงแบบไทยเดิม ในบทวรรณกรรมที่ยกมาจะเห็นว่าใช้เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า อันเป็นเพลงไทยเดิมเพลงหนึ่งที่นิยมนำมาขับร้องร่วมกับการแสดงละครในวาระที่มีความหมายถึงการครุ่นคิดคำนึงในความรัก และเพลงทองย่อน ซึ่งก็เป็นเพลงไทยเดิมอีกเพลงหนึ่งที่นิยมนำมาขับร้องร่วมกับการแสดงละครที่ต้องการแสดงถึงอารมณ์ที่บังเกิดความรักที่หวานซึ้ง
รูปแบบการนำเสนอแต่เดิมจึงเป็นการนำเสนอในรูปแบบของการอ่านที่เป็นกลอนบทละคร และหรือการแสดงละครไทยแบบเดิมอันถือเป็นวัฒนธรรมและศิลปะประจำของชาติไทย
ต่อมาได้มีศิลปินผู้ถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของชาติท่านหนึ่ง คือคุณครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เห็นถึงความไพเราะของบทวรรณกรรมในเรื่องท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบทที่ได้นำมานี้จึงได้นำมาเสนอในรูปแบบขององค์ความรู้แบบใหม่ในแนวของเพลงไทยสากล โดยท่านได้เรียบเรียงทำนองเพลงขึ้นใหม่ แล้วตั้งชื่อเพลงนี้ว่า เพลงสาส์นรัก ใช้จังหวะแบบสากลคือจังหวะสโลว์แทงโก้ บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยให้คุณ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้อง โดยมีบทร้องดังนี้
ในลักษณ์(นั้น)นี้ว่าน่าประหลาด เป็นเชื้อชาตินักรบกลั่นกล้า

เหตุไฉนย่อท้อรอรา (ฤๅ)หรือจะกล้าแต่เพียงวาที
เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้(ถึง)เต็มที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันมณี(ฤๅ)หรือจะโลดไปถึงมือ
อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้(ฤๅ)หรือ
มิใช่ของตลาดที่อาจซื้อ (ฤๅ)หรือแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม
ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง คงชวดดวง(บุผชาติ)บุปผาชาติสะอาดหอม
ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินดอม จึงได้ออมอบกลิ่นสุมาลี
จากการปรับปรุงคำร้องนั้นข้าพเจ้าวิเคราะห์ว่า เห็นจะเป็นเพราะว่าน่าจะให้เป็นไปตามภาษาเขียนในสมัยปัจจุบัน แต่ยังคงความหมายเดิมประการหนึ่ง แต่บางคำ เช่น นั้น เป็น นี้ ถึง เป็น เต็ม นั้น ก็น่าจะเป็นเพราะว่ารูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนไป เพราะแต่เดิมนั้นเป็นการแสดงละคร ที่มีผู้แสดง สองคน ที่อยู่ในสถานที่ที่ห่างกัน และเป็นการตอบโต้ กัน จึงใช้คำว่านั้น ส่วนจากคำว่า ถึง เป็น เต็ม ก็เห็นจะเป็นตามเหตุผลเดิมคือเป็นการแสดงละคร ซึ่งตัวนางอุษาเป็นนางที่สูงศักดิ์ เปรียบได้กับนางนั้นอยู่ในที่สูง หากหมายปองจึงต้องเอื้อมให้ ถึง และด้วยเหตุผลจากการนำเสนอในรูปแบบองค์ความรู้แบบใหม่เป็นแบบเพลงไทยสากล มีผู้ขับร้องเป็นผู้สื่อภาษาวรรณกรรมนั้นออกมาเพียงคนเดียวมิใช้การแสดงละคร แต่เป็นการบอกกล่าวเนื้อหา คุณค่าความหมายของเนื้อเพลงด้วยทำนองเพลงแบบใหม่ แต่ยังคงความหมายที่ทรงคุณค่าเกิดภูมิปัญญาแก่ผู้ได้ยินได้ฟังในขณะนี้เดี๋ยวนี้ จึงใช้คำว่า นี้ และ เต็ม
ด้านแนวคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่แฝงอยู่ในตัวละคร
ท้าวแสนปม ถือว่าเป็นชายชาตินักรบ ที่ชี้ให้เห็นว่าค่านิยมของคนในสมัยนั้นผู้ที่ยิ่งใหญ่ ต้องเป็นนักรบ แม้แต่กษัตริย์เองก็ต้องเป็นนักรบจึงจะเป็นที่ยอมรับและนิยมชมชอบ ท้าวแสนปม เป็นตัวละครหนึ่งที่เป็นนักรบที่กล้าหาญ ฉลาด มีความกตัญญูต่อบุพการี จะเห็นได้ว่าแม้กำลังติดพันรักใคร่อยู่กับนางอุษา เมื่อพระบิดามีเหตุการณ์บ้านเมืองต้องเรียกกลับ ท้าวแสนปมเองก็ปฏิบัติตามเพราะเป็นบุตรที่ดี มีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนต่อบุพการี และบ้านเมือง ผู้ที่มีความรักที่จริงใจและมีความรับผิดชอบ หลังจากได้นางอุษาแล้วต้องทิ้งนางไปเพราะภาระหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแต่เมื่อทราบเหตุว่านางมีบุตรแล้วท้าวไตรตรึงษ์ ก็กำลังตามหาพ่อของลูกนางอุษา ท้าวแสนปมเองก็รีบยกทัพมาเพื่อมารับนางและลูก ทั้งยังเป็นผู้มีคุณสมบัติที่ฉลาดรอบคอบ มีการวาแผนเป็นขั้นตอน จนท้าวไตรตรึงษ์ไม่สามารถที่จะหาเหตุรั้งท้าวแสนปมไว้ให้เป็นผู้สืบทอดดูแลนครไตรตรึงษ์ได้ ทั้งยังต้องยอมเสีย
พระราชธิดาอันเป็นที่รักไปให้แก่ท้าวแสนปม
นางอุษา เป็นตัวละครสำคัญของเรื่องที่มีบทบาทและคุณสมบัติที่เพียบพร้อมอีกตัวหนึ่งที่ชี้ให้เห็นค่านิยมของคนในสมัยนั้น คือต้องเป็นคนที่ฉลาดรู้จักมองคนได้อย่างลึกซึ้งและรู้เท่าทัน จะเห็นจากแม้ว่าตัวท้าวชินเสน จะปลอมแปลงตนเป็นนายแสนปมผู้ต่ำต้อยแค่มีฐานะผู้ดูแลสวนไม่มีใครเลยแม้สักผู้เดี๋ยวที่จะสามารถมองเห็นแก่นแท้ของนายแสนปม แต่นางอุษาเป็นผู้ที่ฉลาด มีการสังเกตจากท่าทาง และสามารถจับแววตาของนายแสนปมได้และรู้ว่าต้องมิใช่ผู้ต่ำต้อย ก็พยามหาเหตุจนสามารถรู้ความจริงได้ว่าแท้จริงแล้วนั้นนายแสนปมคือกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญที่นางได้หมายปองไว้ จึงยอมตกลงปลงใจและแอบได้เสียกันถึงแม้จะมีอุปสรรคในความรักในระยะแรก แต่ปั้นปลายนางก็ได้สมหวังและมีความสุขอย่างสมบูรณ์ยิ่งเพราะนางนั้นรู้จักที่จะเลือกและมองคน จะเห็นว่าคุณลักษณะของนางอุษานี้จะหาได้อยาก หากคนในปัจจุบันเป็นผู้ที่รู้จักมองคนได้อย่างลึกซึ้งในปัจจุบันสังคมก็จะเป็นสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่
ท้าวไตรตรึงษ์ เป็นกษัตริย์ที่มีคุณสมบัติที่ขาดความรอบครอบ และมองคนอย่างผิวเผิน แต่เป็นบิดาที่มีความรักต่อลูกและหลานเป็นอย่างมาก จึงพยามที่จะหาคู่ครองที่ดีให้แก่ลูก แต่เพราะไม่มีคุณสมบัติอย่างนางอุษาจึงทำให้ต้องเสียพระธิดาและหลาน พร้อมลูกเขยที่ปรารถนาจะให้ครองเมืองแทนท้าวไตรตรึงษ์

ต่อไป
จากตัวละครสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดในด้านของการทหาร ว่ามีบทบาทสำคัญมากในสังคมสมัยนั้น ทหาร หรือ นักรบคือผู้ยิ่งใหญ่ มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของบ้านเมือง ต้องเชื่อฟังคำสั่งผู้นำ กษัตริย์ หรือเจ้าเมือง ต้อง ต้องเป็นผู้นำในการทหาร ต้องเตรียมการแม้แต่ผู้ที่จะต้องปกครองดูแลบ้านเมืองต่อไปให้อยู่ได้ และการหาคู่ครองที่ดีเพื่อได้พระราชโอรสที่มีบุญญาธิการ ผู้ที่ยิ่งใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองจนเป็นกำเนิดของพระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ความเชื่อ ที่มีให้เห็นในเรื่องของท้าวแสนปม คือมีความเชื่อในเรื่องของคำทำนายของโหราศาสตร์ มีความเชื่อในเรื่องของผู้มีบุญญาธิการ ดังจะเห็นว่า ท้าวไตรตรึงษ์นั้นถึงแม้จะรู้ว่าพระราชธิดาอยู่ อยู่ก็ตั้งครรภ์ แต่เมื่อโหรทำนายว่าบุตรของนางนั้นคือผู้มีบุญญาธิการมาเกิด และจะเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ในภายหน้า ท้าวไตรตรึงษ์ก็เชื่อและรักหลานเป็นยิ่งนักแม้จะเสียหน้าต่อการที่นางอุษานั้นท้องโดยไม่มีพ่อ และก็ยังเชื่อต่อว่าผู้ที่มีบุญมาเกิดนั้นต้องมีเชื้อสายของผู้ที่ยิ่งใหญ่จึงได้ดำเนินการวางแผนหาผู้เป็นพ่อของหลานเพื่อจะได้จัดการแต่งงานและยกเมืองให้ครองต่อไป แต่เนื่องจากท้าวไตรตรึงขาดคุณสมบัติในด้านการมองคนให้ลึกซึ้ง เมื่อเห็นหลานรับเอาก้อนข้าวเย็นของชายผู้มีรูปร่างแสนปมก็โกรธและรู้สึกเสียพักตร์ ถึงกับตรัสขับไล่นางอุษาและหลาน เป็นเหตุให้ท้าวแสนปมโกรธตรัสด้วยคำพูดที่ท้าทาย และให้สัณญานทัพที่เตรียมมาเพื่อเตรียมการบุกเข้าเมืองไตรตรึงษ์ จนท้าวไตรตรึงษ์เองเสียท่าแก่ท้าวแสนปม หรือพระชินเสน
บทสรุป
บทวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปมนั้นเดิมเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่มากไปด้วยปาฏิหาริย์ ที่มีการสืบทอดกันทั้งแบบมุขปาฐะ และอมุขปาฐะ จนเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำข้อมูลมา พิจารณาและใช้ความสันนิษฐานประกอบเข้าให้แลเห็นทางอันน่าเชื่อได้ ตามเค้าเรื่องที่ทรงสันนิษฐานเอง ในรูปแบบของกลอนบทละคร
เรื่องท้าวแสนปม ยังชี้ให้เห็นค่านิยมในเรื่องของเปลือกนอกกับเนื้อใน ที่สังคมไทยปัจจุบันมีปัจจัยต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความคิดของผู้คนในสังคม ทั้งวัฒนธรรมตะวันตก กระแสทุนนิยม และกระแสโลกาภิวัตน์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนมีความอยากมี อยากเป็น อย่างคนอื่นเขา จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนาโดยการสร้าง รูปลักษณ์ภายนอกให้ผู้คนส่วนใหญ่เกิดความนับถือและนิยมชมชอบ โดยมองข้ามสิ่งที่สำคัญคือในด้านของจิตใจและความสามารถที่
แท้จริงของคนคนนั้น เรื่องท้าวแสนปมจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่สร้างค่านิยมที่แฝงอยู่ในเรื่องของบทวรรณกรรมที่น่าคิดที่สอนให้คนมองคนด้วยความเฉลียวฉลาด ให้เห็นถึงแก่นแท้มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ดังเช่น นางอุษา ราชธิดาของท้าวไตรตรึงษ์แห่งบทละครเรื่องท้าวแสนปม บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้น แม้นางจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันแต่การกระทำของนางก็เป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อแรกที่นางเห็นท้าวชินเสนในร่างของนายแสนปม นางคิดในใจว่า
“รุงรังดังหนึ่งอนาถา แต่ดวงตามิใช่ตาไพร่
จ้องดูไม่หลบตาไป นี่มิใช่คนทรามต่ำช้า”
จะเห็นว่าแม้รูปกายภายนอกของนายแสนปมจะดูน่าเกลียดเพียงใด แต่นางอุษาก็ฉลาดพอที่จะมองคนออกและรู้สึกนึกรักนายแสนปมขึ้นมาทันที ถึงแม้จะรู้ว่าความรักของนางจะเกิดอุปสรรคสักเพียงใด นางก็ถือว่านางได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดที่นางได้วิเคราะห์เลือกสรรแล้ว จนผลสุดท้ายนางก็ประสบผลสำเร็จแห่งผลของการกระทำของนาง แล้วจะมีสักกี่คนในสังคมปัจจุบันที่มองคนให้ลึกถึงเนื้อในโดยไม่พิจารณาถึงรูปลักษณ์ภายนอกดังนางอุษาในเรื่องท้าวแสนปม เพราะสังคมยุคปัจจุบันนั้นมีค่านิยมที่มองคนที่ “เปลือกนอก” มากกว่าและกระแสสังคมก็ยังไปเป็นตามครรลองเช่นนี้เรื่อย ๆ โดยไม่มีใครจะหยุดยั้งได้ เช่นนี้ การมองคนที่เปลือกนอกจึงยังเป็นอีกเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ตัดสินความดีความเลวของคนในสังคม คงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะมองให้ลึกถึงเนื้อในได้โดยไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอกเช่นนางอุษา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักในสังคมปัจจุบันก็คือ ความดีงามของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก จิตใจต่างหากที่เป็นตัวตัดสิน ดังคำกล่าวที่ว่า “เปลือกนอกหรือจะสำคัญเท่าเนื้อใน” และนี่คือข้อคิดที่ได้จากวรรณกรรมเรื่องท้าวแสนปม

เอกสารอ้างอิง


สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ศกุลตลา มัทนะพาธา ท้าวแสนปม ประมวลสุภาษิต , ธนบุรี: โพธิสามต้นการพิมพ์ , ๒๕๑๓.